top of page

เจาะลึก สินมั่นคง ยกเลิกประกัน Covid-19 ทำไปเพราะขาดทุน หรือได้กำไรแล้วหนี


จากข่าว วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลาประมาณเที่ยงๆ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาประกาศยกเลิกความคุ้มครองประกันโควิดทุกฉบับ และจะจ่ายเงินคืนโดยหักส่วนต่างตามวันที่คุ้มครองออก ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับประชาชนแล้วนั้น อีกไม่นาน แทบจะไม่ถึง 1 ชั่วโมงในวันเดียวกัน บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ก็ได้ออกมาบอกยกเลิกการรับประกันโควิดเช่นกัน โดยมีรายละเอียดว่า งดรับทำประกันโควิดทุกช่องทาง ทั้งลูกค้าใหม่ และลูกค้าต่ออายุ ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป แต่ลูกค้าที่ทำประกันไว้ก่อนหน้ายังได้รับความคุ้มครอง ทำให้ลูกค้าบางส่วนไม่พอใจ เป็นผลให้ไม่กี่ชั่วโมงถัดมาวิริยะต้องออกมากลับลำประกาศว่า ของดรับประกันก่อน เพราะว่ากำลังปรับแผนประกันโควิดให้ใหม่




จากนั้นไม่นาน ประมาณ 1 ชั่วโมงถัดมา คปภ. ก็ออกมาประกาศกร้าว ห้ามสินมั่นคง หรือบริษัทไหนๆก็ตาม ยกเลิกการรับประกันโควิดเด็ดขาด! แต่ก็ดูเหมือนท่าทางจะไม่เป็นผล ณ เวลาที่เราเขียนบทความอยู่นี้ ( 1:09 น. ของวันที่ 17 กรกฎาคม 2564) เว็บไซต์ทางการของสินมั่นคง https://www.smk.co.th/ ยังคงประกาศว่า ยกเลิกกรมธรรม์ ยอมจ่ายเงินคืนให้ทุกคน จะให้โอน Prompt Pay โอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือจะจ่ายเป็นเช็คก็ยอม เรียกว่าจ่ายเงินคืนให้ทุกทาง แต่ไม่จ่ายคืนเต็มจำนวนนะ จะหักเงินวันที่รับประกันไปแล้วด้วย และลูกค้าก็ไม่มีทางเลือก ยังไงบริษัทก็จะยกเลิก ให้ลูกค้ามาเอาเงินบางส่วนคืนไปเถอะ เพราะไอ้ประกันโควิดที่ซื้อไป ไม่สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นแผนประกันสุขภาพ รถยนต์ หรืออะไรอื่นๆได้เลย แปลว่าถ้าไม่เอาเงินคืน ก็ไม่เป็นไร แต่ก็ไม่ได้รับการรับประกันอยู่ดี









ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายบริษัทประกันภัย เช่น เมืองไทยประกันภัย ทิพยประกันภัย ได้ออกมาชี้แจงว่าจะรับประกันเหมือนเดิม


การที่บริษัทประกันบางส่วนต่างตบเท้ากันออกมายกเลิกความคุ้มครองนั้น เหตุผลเบื้องหลังนั้นคืออะไร และเขาทำไปทำไม คือคำถามที่เราจะมาแชร์มุมมองกันในบทความนี้ค่ะ


คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมเราจ่ายค่าประกันโควิดไม่กี่ร้อยบาท แต่ประกันคุ้มครองเราเป็นหลักหมื่น หลักแสน หรือบางที่ก็คุ้มครองถึง 1,000,000 บาท เลยทีเดียว บริษัทประกันไปเอาเงินที่ไหนมาจ่าย หลักการคร่าวๆ พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือแบบนี้ค่ะ มันทำงานคล้ายๆกับ สหกรณ์ หรือเปียแชร์


คนที่กลัวติดโควิดหลายๆคนเอาเงินไปกองรวมไว้กันที่บริษัทประกัน และถ้าคนใดคนหนึ่งติดโควิด ต้องการค่ารักษา ค่าชดเชย ก็จะสามารถเอาเงินไปใช้ได้ นี่จึงทำให้บริษัทประกันสามารถมีเงินมาจ่ายลูกค้าได้จำนวนมากๆนั่นเองค่ะ


ที่บริษัทประกันกล้าทำแบบนี้ก็เพราะว่า บริษัทประกันมองว่า คนที่กลัวติดโควิดทุกคน จะไม่ได้ติดเชื้อกันไปเสียทุกคน ทำให้บริษัทประกันกล้ารับประกันค่ะ


ส่วนที่ยากอยู่ตรงนี้ค่ะ บริษัทประกันต้องอาศัยความชำนาญ เชี่ยวชาญในการพิจารณาว่าความคุ้มครองควรมีอะไรบ้าง จำกัดวงเงินที่เท่าไหร่ และค่าเบี้ยประกันควรเป็นเท่าไหร่ ไม่ถูกเกินไป ไม่น้อยเกินไป


ทีนี้เรามาดูกันว่าอะไรที่ทำให้บริษัทประกันที่เน้นเสนอขายประกันโควิดแพคเกจ “เจอ จ่าย จบ” จึงตบเท้ากันกระโจนหนีออกจากตลาดไปดื้อๆ มีปัจจัยที่น่าสนใจให้พิจารณากันง่ายๆดังนี้ค่ะ 1. ความเสี่ยง และต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นจากการเคลม ประกัน “เจอ จ่าย จบ” จะโฆษณาว่า แค่ตรวจเจอ ติดเชื้อ ก็รับเงินก้อนไปเลย ครั้งแรกที่ทางเราเห็นความคุ้มครองก็ได้แต่ร้องอุทานว่า อันนี้เหมือนซื้อหวยเลย ติดปุ๊บ รับปั๊บ ประกันแบบนี้มักจะมีต้นทุนสูงกว่า เพราะว่าแค่ติดเชื้อ ก็ต้องจ่ายเงินเต็มวงเงินความคุ้มครองทันที ทำให้ประกันแบบนี้ควรมีราคาแพงมาก แต่ถึงกระนั้น หลายๆบริษัทประกันก็เก็บเบี้ยแสนถูกเหลือเกิน (คาดว่าตอนที่คิดแผนประกันขึ้นมา อยู่ในช่วงที่เชื้อยังไม่ระบาดแพร่หนักในไทยมากนัก) ตัวอย่างรายชื่อบริษัทประกันภัยที่ทำแพคเกจประกัน “เจอ จ่าย จบ” ได้แก่ กรุงเทพประกันภัย อาคเนย์ประกันภัย สินมั่นคงประกันภัย วิริยะประกันภัย เอเชียประกันภัย สินทรัพย์ประกันภัย เมืองไทยประกันภัย เป็นต้น 2. เงินทุนสำรอง และ Reinsurer ของบริษัทประกัน เงินทุนสำรอง และ Reinsurer จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก เมื่อบริษัทประกันประเมินความเสี่ยงในการชดใช้เงินเคลมผิดพลาดไป หรืออยากจะลองทำแผนประกันอะไรสักอย่างที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ เพราะว่าถ้าบริษัทประกันมีเงินสำรองสูง และมี Reinsurer ที่มีคุณภาพ บริษัทประกันจะมีเงินเหลือพอจ่ายเคลมให้กับลูกค้า บริษัทประกันที่เก๋าเกมกว่า มีเงินสำรองสูง หรือมี Reinsurer ที่มั่นคง จะสามารถกำหนดความคุ้มครอง และราคาได้ดีกว่า ซึ่งตรงนี้คือปัจจัยสำคัญที่วัดประสิทธิภาพ และความซื่อสัตย์ของบริษัทประกันได้อย่างมากทีเดียว ว่าจะไม่เบี้ยวเคลม ไม่ยึกยัก หรือยกเลิกกรมธรรม์ดื้อๆนั่นเอง (Reinsurer หรือบริษัทรับประกันภัยต่อ คือบริษัทที่จะมารับประกันภัยต่อ กรณีที่บริษัทประกันแรกไม่สามารถรับความเสี่ยงไว้ได้เอง เข้าใจง่ายๆคือ ลูกค้าเคลมเยอะ กว่าค่าเบี้ยที่ตัวเองเรียกเก็บมาได้ทั้งหมด ไม่มีเงินจ่าย ก็ไปบอก Reinsurer มาให้ช่วยจ่ายค่าเคลมให้)


ลำดับต่อไปเรามาลองดูกันเล่นๆว่า “โปรไฟล์” ของบริษัทประกันชื่อดังนี้เป็นยังไงกันบ้าง




*ประกันภัยหมวดเบ็ดเตล็ดหมายถึง ประกันภัยประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ ประกันชีวิต รถยนต์ อัคคีภัย ขนส่งทางทะเล ประกันภัยเบ็ดเตล็ดที่ทิพยประกันภัยถนัด เช่น ประกันโรงกลั่นน้ำมัน ประกันโรงไฟฟ้า เป็นต้น เราจะเห็นได้ว่ามีในตารางนี้มีแค่ทิพยประกันภัยที่มีผู้ถือหุ้นเป็นภาครัฐ แม้ว่าทิพยประกันภัยนั้นจะถูกก่อตั้งโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ตาม แต่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ก็เป็นองค์กรของรัฐ ในส่วนของ Reinsurer หรือบริษัทรับประกันภัยต่อนั้น เราทราบข้อมูลคร่าวๆว่า ทิพยประกันภัย ใช้บริการบริษัทเหล่านี้ค่ะ (นี่เป็นบางส่วนที่เราคาดว่าทิพยประกันภัยใช้บริการ) 1. Swiss Re (สวิสเซอร์แลนด์) ถูกจัดลำดับให้เป็นที่ 1ของโลกในด้านการประกันภัยต่อ

2. Munich Re (เยอรมัน) ถูกจัดลำดับให้เป็นที่ 2 ของโลกในด้านการประกันภัยต่อ

3. Berkshire Hathaway (อเมริกา) ถูกจัดลำดับให้เป็นที่ 5 ของโลกในด้านการประกันภัยต่อ

4. Caisse Centrale de Réassurance (ฝรั่งเศส) ถูกจัดลำดับให้เป็นที่ 30 ของโลกในด้านการประกันภัยต่อ

*จัดอันดับโดยเว็บไซต์ Reinsurance News https://www.reinsurancene.ws/top-50-reinsurance-groups/



ด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านประกันวินาศภัย ความมั่นคงของบริษัท และบริษัทรับประกันภัยต่อที่มีคุณภาพ รวมทั้งการจัดทำแผนประกันภัยที่เหมาะสม ทำให้ทิพยประกันภัยสามารถดูแลลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง เป็นบริษัทประกันภัยของไทยรายแรกที่เปิดตัวประกันโควิดในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 ได้(ชื่อตอนเปิดตัวคือประกันไวรัสโคโรนา) และยังเป็นหนึ่งในบริษัทประกันที่ไม่เคยปิดรับการรับประกันโควิดเลยแม้แต่ครั้งเดียว


และสำหรับสินมั่นคงเองนั้น เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะยอมเคารพคำสั่งจาก คปภ. หรือไม่ และถ้าไม่ยอมทำตาม คปภ. จะมีมาตรการอย่างไรบ้าง เพื่อทวงความเป็นธรรมให้ลูกค้า และเสนอแนะแนวทางให้บริษัทประกันสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้


ต้องการสอบถาม หรืออ่าน Insight เกี่ยวกับการประกัน สามารถติดตามเราได้ที่ LINE Official: @purpleins หรือเว็บไซต์ www.purpleins.com ค่ะ








1,088 views0 comments
bottom of page